หากยังไม่ได้เป็นพระเอกในหัวใจใคร หลายคนก็คงอยากเป็นพระเอกในชีวิตตัวเองได้เหมือนกับพระเอก หรือ ตัวละครหลักในหนังเรื่องโปรด อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร แต่การอยากเป็นพระเอกในชีวิตตัวเองมากเกินไปจนเกิดเป็น Main Character Syndrome ก็อาจไม่ได้ดีต่อใจตัวเองได้ในระยะยาวเช่นกัน รู้แบบนี้แล้ว มาทำความรู้จัก Main Character Syndrome ให้มากขึ้น เพื่อช่วยดูแลใจและตัวตนของตัวเองได้อย่างยั่งยืนตลอดไปกัน
Main Character Syndrome คืออะไร
Main Character Syndrome หรือ Protagonist Syndrome คือ อาการจำลองสถานการณ์ว่าตัวเองเป็นตัวละครหลักที่ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็จะมีคนดูและโฟกัสมาที่ตัวเอง ส่วนคนรอบข้างที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะกลายเป็นตัวประกอบเท่านั้น หากเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับการไปอยู่ในภาพยนตร์อย่าง The Truman Show (1998) แต่ต่างกันตรงที่ตัวเราจะรู้สึกว่าทุกการกระทำของเรามีผู้ชมอยู่นั่นเอง
อาการอย่าง Main Character Syndrome นี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการ “การยอมรับ” ทำให้สร้าง “จุดเด่น” ของตัวเองขึ้นมาตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมักพบเห็นได้ตามโซเชียลมีเดียรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งรูปให้ดูสวย หรือ ทำตามค่านิยมบางอย่างเพื่อได้รับการยอมรับ
Main Character Syndrome อันตรายจริงไหม?
แม้จะเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่นานวันเข้า Main Character Syndrome ก็อาจจะไม่ได้ดูน่าติดตามเหมือนกับ Truman Burbank ใน The Truman Show แต่จะพัฒนากลายเป็นตัวละครอย่าง Carrie Bradshaw จาก Sex and The City ที่ยกทุกความต้องการและปัญหาของตัวเองขึ้นมาเป็นเรื่องหลักจนมองข้ามความต้องการ ตัวตน จิตใจ และรายละเอียดของคนอื่นที่เป็นนักแสดงสมทบของชีวิตไป ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ในชีวิตได้
นอกจากนี้ การสร้างโลกที่ตัวเองเป็นตัวเอกขึ้นมา แม้จะสร้างความมั่นใจในตัวเองและเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ แต่หากหมกหมุ่นอยู่ในโลกที่สถาปนาตัวเองเป็นตัวเอกขึ้นมาก็อาจทำให้เรามีภาวะที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือ Self-centered ได้ ทั้งยังอาจนำไปสู่ปัญหาความผิดปกติทางบุคลิกภาพอย่างโรคหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Personality Disorder ได้เช่นกัน
รับมือ Main Character Syndrome อย่างไรให้ดีต่อใจ
การสังเกตว่าตัวเองมี Main Character Syndrome สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงตั้งคำถามกับตัวเองว่า
- ตอนนี้เรากำลังตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่องหรือเปล่า
เช่น เมื่อฉันมีความคิด หรือ ปัญหาใดขึ้นมา โลกทั้งใบจะต้องเข้าใจ ได้ยิน และรับฟังในสิ่งที่ฉันคิดและพูด ในขณะที่เมื่อคนอื่นมีปัญหา หรือ ความคิดใด ฉันก็จะไม่ได้ใส่ใจเรื่องของคนอื่นมากขนาดนั้น
- ตอนนี้ฉันแคร์ตัวตนในโลกใดโลกหนึ่งอยู่ไหม
เช่น มีการจัดระเบียบ หรือ คุมโทนโปรไฟล์เพื่อแสดงออกว่าตัวเองเป็นคนมีเทสต์ ไปจนถึงการอัปโหลดรูปภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงตัวตนในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องผิด แต่การยึดติดกับการที่ตัวเองเป็นตัวเอกมากเกินไปอาจทำให้เสียความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริงได้ ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีความรู้สึกตอนนี้กำลังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจนเริ่มกระทบกับเรื่องราวหลายด้านของชีวิต อย่าลืมลองพักเบรกตัวเองกลับมาสู่โลกความจริง ลดการเล่นโซเชียลมีเดียลง พร้อมเปิดใจรับรู้ถึงตัวตนคนรอบข้าง เพื่อช่วยลดอาการของ Main Character Syndrome